โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ที่จะมีบทบาทเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้าส่งออกของประเทศไทยและในภูมิภาค เช่น อาเซียน และ BIMSTEC (ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา และไทย)
ส่วนด้านการขนส่ง จะเป็นทางเลือกในการถ่ายโอนสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก โดยขนถ่ายจากคมนาคมทางน้ำ เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟ และมอเตอร์เวย์และยังเป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบจาก ช่องแคบฮอร์มุซ มายังท่าเรือระนอง และส่งผ่านทางท่อไปยังท่าเรือชุมพร เพื่อกระจายในภูมิภาครวมถึงจีนบางส่วน โดยแลนด์บริดจ์จะช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่าคอคลอดกระที่ประเมินว่าต้องใช้งบประมาณสูงกว่า 4 ล้านล้านบาท
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึง แผนดำเนินงานในปี 2566 ว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) จะเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในปีหน้า โดยกระทรวงฯ จะผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาหลักการและเหตุผลของการพัฒนาโครงการนี้ ก่อนที่จะจัดหาเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันสถานะโครงการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รายงานผลการศึกษามายังกระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างเปรียบเทียบต้นทุนการลงทุนจากโครงการที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเสนอ ครม.พิจารณาภายในเดือน ม.ค.2566
ตอนนี้เรากำลังรีเช็คต้นทุนต่างๆ เปรียบเทียบกับการลงทุนในโครงการอื่นๆ ของต่างประเทศ เช่น ท่าเรือในสิงคโปร์ โครงการลงทุนในญี่ปุ่น เกาหลี ดูไบ สเปน ทุกโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับระบบราง เรือ และทางบก เพื่อเปรียบเทียบคอส์ตที่เกิดขึ้น ให้สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปอธิบายประกอบการเสนอโครงการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ เพื่อทำให้การลงทุนครั้งนี้คุ้มค่า มีราคาสมเหตุสมผล และได้รับผลตอบแทนสูงสุด
อย่างไรก็ดี หากได้รับการอนุมัติในหลักการแล้ว กระทรวงฯ มีเป้าหมายในปี 2566 จะนำข้อมูลโครงการกรอบการลงทุนแลนด์บริดจ์ไปจัดแสดง (โรดโชว์) ต่างประเทศ ในลักษณะของการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (มาร์เก็ตซาวดิ้ง) เพื่อทดสอบความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศ และขอความเห็นในสิ่งที่นักลงทุนต้องการ
ศักดิ์สยาม ยังกล่าวด้วยว่า กระทรวงฯ ยังคงเป้าหมายเปิดให้เอกชนมาเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ อีกทั้งการจะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเมื่อเปิดให้บริการแล้วมีความคุ้มค่า มีความต้องการการใช้งานทันที ต้องหาพันธมิตรภาคเอกชนที่มีประสบการณ์สายการเดินเรือ เพราะจะสามารถหาลูกค้ามาใช้บริการได้ และเพื่อให้โครงการนี้พัฒนามาแล้วไม่สะดุด เอกชนต้องมีสินเชื่อ (ไฟแนนซ์) สนับสนุนด้วย
สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์ กระทรวงฯ ต้องการพัฒนารองรับต่อปริมาณการเดินเรือที่เกิดขีดความสามารถบริเวณช่องแคบมะละกา เพราะในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณการเดินทางจำนวนมาก ซึ่งเบื้องต้นตามแผน สนข. คาดว่าการลงทุนระยะแรกจะก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2573 คาดปริมาณสินค้าเข้ามาใช้บริการมากกว่า 20 ล้าน TEUs ซึ่งจะเทียบเท่ากับท่าเรือฮ่องกงที่มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของ สนข. ประเมินว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะต้องใช้งบลงทุนสูงถึง 1,194,307 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง ในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ได้แก่ โครงการท่าเรือฝั่งระนอง และ ท่าเรือฝั่งชุมพร โดยจะนำระบบเทคโนโลยี Automated Container Terminal มาใช้ในการบริหารจัดการ
2. การเชื่อมต่อท่าเรือทั้ง 2 แห่ง โดยระบบมอเตอร์เวย์ รถไฟและท่อส่งน้ำมัน แบ่งเป็น มอเตอร์เวย์ระนอง ชุมพร รถไฟทางคู่ระนอง ชุมพร และท่อส่งน้ำมัน โดยมีเป้าหมายต้องเป็นเส้นทางที่ไม่ชันและมีระยะทางที่สั้น เพื่อลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
3. การพัฒนาพื้นที่หลังท่า เช่น ศูนย์กระจายสินค้า คลังน้ำมันอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
แลนด์บริดจ์จะเป็นประตูการค้าสำคัญที่จะเชื่อมโยงการขนส่งจากอาเซียน ผ่านมายังการคมนาคมทางเรือ ทางบก และทางรางในประเทศไทย เข้าสู่ท่าเรือฝั่งอันดามันของแลนด์บริดจ์ และส่งออกไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้นเพื่อให้โครงการนี้สมบูรณ์แบบมากที่สุด เราจึงต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทุกรูปแบบรองรับการขนส่ง เป็นที่มาของการพัฒนามอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่
รายงานข่าวจาก สนข.ระบุว่า จากการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ เบื้องต้นที่ปรึกษาได้นำเสนอการคัดเลือกพื้นที่ทางเลือกท่าเรือที่เหมาะสมที่สุดฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง คือ พื้นที่แหลมอ่าวอ่าง และฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร คือ พื้นที่แหลมริ่ว เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่ง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU ตามผลการคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะเข้ามาที่ยังแลนด์บริดจ์
รวมทั้งยังสามารถขยายท่าเรือ ในอนาคตให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 40 ล้าน TEU เทียบเท่ากับปริมาณสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับร่องน้ำลึก รองรับการเข้าใช้งานของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ อีกทั้งตำแหน่งท่าเรือยังสอดคล้องกับผลการศึกษาแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และระบบราง MR8 ชุมพร ระนอง
ขณะที่การศึกษาแนวเส้นทางของการก่อสร้างรถไฟและมอเตอร์เวย์ เบื้องต้น สนข.ได้ทบทวนเส้นทางรถไฟสายชุมพร-ระนอง ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เคยศึกษามาก่อนหน้านี้